ในช่วงการระบาดของ covid-19 ครั้งล่าสุดที่ผ่านมา และยังคงไม่ผ่านพ้นไปสำหรับหลายๆประเทศทั่วโลก บวกกับปัญหาคาราคาซังทางด้านการบริหารของรัฐบาลชุดปัจจุบัน ถือเป็นส่วนผสมที่ทำให้เศรษฐกิจแย่ลงไปเรื่อยๆแบบไม่มีท่าทีที่จะกลับมาฟื้นตัวได้เร็วๆนี้ และทำเอาหลายกิจการต้องปิดตัว มนุษย์เงินเดือนก็ตกงานกันเป็นแถว ทำให้เราต้องเริ่มมามองกันแล้วว่าจะเตรียมตัวรับมือยังไงดี หากว่าเศรษฐกิจและสถานการณ์ณ์ยังไม่มีทีท่าว่าจะดีขึ้น หรือในกรณีที่แน่กว่านั้นคือ ถ้าเกิดวิกฤติอะไรเพิ่มขึ้นมาอีกเราควรจะทำอย่างไร
1 – ไม่ควรมีรายได้แค่ทางเดียว – ก่อนหน้านี้เรามักถูกปลูกฝังด้วยแนวคิดที่ว่าจะรู้อะไรต้องรู้ลึกรู้จริง จะศึกษาอะไรอย่างอื่นไว้บ้างก็ได้แต่ก็ไม่ได้จำเป็นเท่าไหร่นักที่จะรู้ลึก เพียงแค่พอรู้ไว้และโฟกัสด้านเดียวก็เพียงพอ แต่ในปัจจุบันนี้ด้วยเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปทำให้คนเราต้องการทักษะที่หลากหลายมากขึ้นในการทำงาน การรู้อะไรเพียงแค่อย่างเดียวเป็นเรื่องที่อันตรายเพราะสิ่งที่เราทำอยู่และถนัด อาจจะกลายเป็นสิ่งที่ใช้งานไม่ได้ภายในอนาคตอันใกล้ และถ้านั่นเป็นช่องทางสร้างรายได้เพียงทางเดียว หากเกิดการเปลี่ยนแปลงกะทันหันขึ้นมารายได้ของคุณทั้งหมดก็จะหยุดไปเลยทันที
2 – การบริหารสัดส่วนหนี้ – D/E ratio หรือสัดส่วนของหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้น หรือต่อเงินทุนสำรองส่วนบุคคล ต้องมีการปรับเปลี่ยนให้ต่ำลงเท่าที่จะทำได้ เพราะเมื่อเกิดวิกฤติทางเศรษฐกิจขึ้นมา ส่วนของ equity มักจะลดลงเรื่อยๆในขณะที่ debt ยังคงเดิม และมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้น ทำให้กิจการเสี่ยงที่จะต้องล้มละลายและปิดตัวเอาได้ง่ายๆ ในภาวะเช่นนี้จึงไม่ควรใช้เงินในส่วนของหนี้สินเข้ามาเป็นเงินหลักในการลงทุนใดๆก็ตาม
3 – การจัดการความเสี่ยง – ในช่วงไม่ถึงปีที่ผ่านมาเราได้เห็นแล้วว่ามีสินค้าจำเป็นหลายชนิดที่ขาดตลาดและราคาพุ่งขึ้นย่างรวดเร็ว ซึ่งแม้จะผิดศีลธรรมแต่ก็นับว่าเป็นโอกาสในทางธุรกิจที่เกิดขึ้นท่ามกลางวิกฤติ สิ่งที่ควรต้องระวังก็คือการรักษาสภาพคล่องและจัดการความเสี่ยงรอบๆตัวให้ดี เพราะเราไม่มีทางรู้ว่าเมื่อไหร่จะมีวิกฤติที่ไม่คาดคิดวนเข้ามาอีก และถ้าหากมีโอกาสเข้ามา เราจะมีสภาพคล่องที่พร้อมจะคว้าเอาไว้ได้หรือไม่